
นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ในยุคที่ ไมค์ แอชลีย์ เป็นเจ้าของทีม เขาได้กลายเป็นคู่ปรปักษ์กับแฟนบอลท้องถิ่น เพราะเจ้าของเลือกบริหารทีมแบบเน้นกำไร และมีเป้าหมายแค่อยู่รอดในพรีเมียร์ลีกเท่านั้น ทำให้การประท้วงขับไล่เจ้าของทีมเกิดขึ้นเป็นประจำ จนกลายเป็นภาพที่ชินตา ซึ่งทางฝั่งของ แอชลีย์ ก็รับรู้ถึงแรงเสียดทานนี้ดี และเปิดรับข้อเสนอจากนักธุรกิจทั่วโลก แต่ก็ไม่มีแววว่าจะขายทีมได้สำเร็จ กระทั่งช่วงโควิด-19 ทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคชนิดนี้ แต่สำหรับ นิวคาสเซิ่ล แล้ว มันเหมือนเป็นการกลับมาเกิดใหม่ หลังจากต้องทนทุกข์กับความมืดมน ไร้อนาคต และไร้ความหวัง
ความยิ่งใหญ่ในยุค เซอร์ จอห์น ฮอลล์

ก่อนที่ ไมค์ แอชลีย์ จะเข้ามาเป็นเจ้าของทีม นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด เคยมี เซอร์ จอห์น ฮอลล์ เป็นเจ้าของทีม ซึ่งได้สร้างทีมจากลีกรอง จนขึ้นมาเป็นทีมนำชั้นของประเทศ ได้เล่นยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีก และเคยขึ้นไปวัดแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 1996 กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แม้ในท้ายที่สุด พวกเขาจะได้แค่ตำแหน่งรองแชมป์ จากนั้นตระกูลฮอลล์ ได้เริ่มปล่อยหุ้นให้กับ ไมค์ แอชลีย์ เจ้าของบริษัทผลิตภัณฑ์กีฬา สปอรต์ ไดเรกต์ กระทั่งปี 2007 ก็ได้ครอบครองเป็นเจ้าของคนใหม่ ในราคา 134 ล้านปอนด์
ความตกต่ำในยุคไมค์ แอชลีย์

การเข้ามาเทกโอเวอร์ทีมของ แอชลีย์ ในช่วงแรกได้สร้างความอุ่นใจแก่แฟนบอล เมื่อเจ้าตัวได้เข้ามาดูเกมการแข่งขัน และเลือกนั่งปะปนกับแฟนบอล เพื่อให้เห็นถึงความเป็นกันเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธาตุแท้ก็เริ่มเผยออกมา เมื่อการทำทีมจะต้องใช้เงินทุนน้อยที่สุด เลือกโค้ชที่รับค่าเหนื่อยถูก ๆ ได้ รวมถึงนักฟุตบอล ที่ขอแค่เป็นเกรดที่เล่นพรีเมียร์ลีกได้ ทำให้ผลงานของสาลิกาดง วนเวียนอยู่กลางตาราง ท้ายตาราง ตกชั้นลงไปเดอะแชมป์เปี้ยนส์ชิพ และกลับขึ้นมาใหม่ ซ้ำ ๆ วน ๆ อยู่แบบนี้ นั่นจึงทำให้แฟนบอลหมดความอดทนกับแนวทางการบริหารทีมแบบนี้ ซึ่งทางฝั่งของ แอชลีย์ รับรู้ถึงกระแสต่อต้าน และพร้อมพิจารณาทุกข้อเสนอ หากเม็ดเงินเป็นที่น่าพอใจ
กลุ่มธุรกิจที่เคยยื่นข้อเสนอ

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2017 ถือเป็นครั้งแรก ที่มีข่าวว่ากลุ่มทุนจีนพร้อมยื่นข้อเสนอซื้อ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในวงเงิน 300 ล้านปอนด์ โดยจุดประสงค์ของประธานาธิบดี สี จิ้ง ผิง คือ ต้องการพัฒนาฟุตบอลจีน โดยเริ่มจากซื้อสโมสรฟุตบอลอาชีพ แต่พอผ่านไปไม่กี่วัน ข่าวนี้ก็ได้เงียบหายไป

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน PCP Capital Partners ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน ก็ได้เข้ามาชมเกมที่ เซนต์ เจมส์ พาร์ค เพื่อหวังจะเข้าซื้อ นิวคาสเซิ่ล ให้ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยยื่นข้อเสนอขอซื้อ ลิเวอร์พูล แต่ ทอม ฮิคส์ กับ จอร์ช จิลเลต ไม่ขาย ส่วนข้อเสนอในครั้งนี้ มีมูลค่า 300 ล้านปอนด์ ทำให้ แอชลีย์ ปัดตกข้อเสนอ เพราะต้องการ 400 ล้านปอนด์ กระทั่งในเดือน ม.ค. ปี 2020 ก็ได้มีข้อเสนอยื่นมาอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้เพิ่มเป็น 340 ล้านปอนด์ แต่ก็ถูกปฏิเสธ
กลุ่มทุนซาอุฯ เข้าฮุบ นิวคาสเซิ่ล
ไมค์ แอชลีย์ อยากขายทีมในราคา 350-400 ล้านปอนด์ แต่ปัญหามันติดตรงที่ไม่มีใครซื้อ เพราะขนาดกลุ่มทุนซาอุดีอาระเบีย ก็ยังมองว่าแพงเกินไป กระทั่งช่วงโควิด-19 การแบกรับภาระและหนี้สิ้น ทำให้ แอชลีย์ ต้องจำใจขาย มิเช่นนั้นต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้กำไร และถึงเวลานั้น มูลค่าของทีมอาจตกลงไปมากกว่านี้


วันที่ 14 เม.ย. 2020 ได้มีข่าวใหญ่ออกมาว่า กลุ่มทุนซาอุดีอาระเบีย ได้ยื่นข้อเสนอเป็นวงเงิน 310 ล้านปอนด์ โดยกลุ่มทุนใหม่จะมี 3 ส่วน คือ Public Investment Funds (PIF) ของเจ้าชาย ซัลมาน ถือหุ้น 80% ขณะที่ Reuben Brothers เป็นบริษัทลงทุนนอกตลาดหุ้น ถือหุ้นที่ 10% และ บริษัท PCP Capital Partners ที่เคยยื่นข้อเสนอไปก่อนหน้านี้ ก็ถือหุ้นที่ 10% พร้อมกับส่ง อะแมนดา สเตฟลีย์ เป็นตัวแทนเจรจากับ ไมค์ แอชลีย์ เจ้าของทีมคนเก่า
หุ้นส่วนอีก 2 ราย เป็นใคร ?

อะแมนดา สเตฟลีย์ เป็นหญิงสาวจากเมืองฮาร์โรเกต แคว้นยอร์คเชียร์ตอนเหนือ เรียนหนังสือไม่จบปริญญาตรี แต่ได้ดีเมื่อก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจ โดยในระหว่างทาง อะแมนดา ได้พบปะกับ ไฮโซ นักธุรกิจ และชั้นชนสูงในหลายประเทศ โดยเฉพาะมหาเศรษฐีจากตะวันออกกลาง ทำให้บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินของอะแมนดา ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนเจรจาธุรกิจ ระหว่างกลุ่มทุนตะวันออกกลาง กับ อังกฤษ โดยเฉพาะ
ในอดีต อะแมนดา เคยเป็นที่ปรึกษาในการซื้อลิเวอร์พูล เมื่อปี 2008 แต่ล้มเหลว ต่อมาได้รับมอบหมายจากกลุ่มทุนอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ซึ่งเธอได้ช่วยเดินเรื่อง จนสามารถซื้อ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้สำเร็จ พร้อมกับได้ค่านายหน้าสูงถึง 10 ล้านปอนด์
ขณะที่ รอยเบน บราเธอร์ส เป็นกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่บริหารโดยพี่น้อง ไซมอน และ เดวิด รอยเบน เป็นชาวอินเดียที่มาตั้งรกรากในอังกฤษ พร้อมกับเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของเกาะอังกฤษ เมื่อมีมูลค่าทรัพย์สินสูงถึง 1,866 ล้านปอนด์
ดีลไม่ปกติ ในเวลาที่ไม่ปกติ
การเจรจาระหว่าง PCP กับ แอชลีย์ ได้บทสรุปที่ราคาขาย 305 ล้านปอนด์ แต่ขั้นต่อไปคือ การตรวจสอบสัญญา และคุณสมบัติเจ้าของใหม่ ดันกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้การซื้อ-ขายทีม ต้องกินเวลานานถึง 1 ปี เพราะแม้แต่ บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินของ อะแมนด้า ก็ได้ถูกตรวจสอบเช่นกัน ว่าแหล่งฟอกเงินหรือไม่ เนื่องจากบริษัทนี้ไม่มีพนักงาน และสำนักงาน แต่ทำไมถึงมีทรัพย์สินมูลค่า 2,800 ล้านปอนด์ กระนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากแต่ปัญหาของเจ้าชาย ที่มีหลายเรื่องเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ

ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก นำโดย นาย ริชาร์ด มาสเตอร์ และประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลอังกฤษ นาย มาร์ค บิลลิงแฮม ได้ออกกล่าวถึงเหตุผลที่กลุ่มทุนซาอุฯ ไม่ผ่านคุณสมบัติในการเป็นเจ้าของทีมนิวคาสเซิล ได้แก่ อาจมีการใช้อำนาจ และอิทธิพลต่อสโมสรอื่นในอังกฤษ เช่น เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่มีเจ้าชาย อับดุลลาห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย เป็นเจ้าของ หรือกับทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีสนิทชิดเชื้อกับ โมฮัมเหม็ด บิน ซายเอ็ด แห่งอาบูดาบี
การฆาตกรรมนาย ยามาล คาชอกกี้ นักข่าวซาอุดีอาระเบียในสถานทูตซาอุฯ ประจำกรุงอิสตันบุล เมื่อ ต.ค. 2018 พร้อมกับเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แม้ว่าเจ้าชายทรงปฏิเสธก็ตาม นอกจากนี้ บทบาทของราชวงค์ซาอุดีอาระเบีย ก็ยังดูซับซ้อน และเข้าข่ายเป็นรัฐบาล ซึ่งผิดคุณสมับิตของพรีเมียร์ลีก ที่ไม่อนุญาตให้รัฐบาลชาติใดมาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล สุดท้ายเรื่องของการลักลอบนำสัญญาณพรีเมียร์ลีก ไปถ่ายทอดสดในซาอุดีอาระเบีย โดยใช้ชื่อบริษัทว่า beout Q ก็เป็นเรื่องที่พรีเมียร์ลีก ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด
เรื่องทุกอย่าง จบลงแบบง่ายดาย

เรื่องราวของการเทกโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิ่ล รัฐบาลอังกฤษถึงขั้นจัดการประชุมร่วมกัน ระหว่าง ตัวแทนรัฐมนตรีต่างประเทศ, กระทรวงดิจิทัล,สื่อ,วัฒนธรรมและกีฬา (กระทรวงเดียวกันหมด) กรมการค้านานาชาติ และพรีเมียร์ลีกเมื่อ 14 พ.ค. 2020 เพื่อ “ไม่รับรอง” การเป็นเจ้าของทีมให้ เจ้าชาย บิน ซัลมาน
หลังจาก 1 ปี ที่ประกาศไม่รับรอง อะแมนด้า สเตฟลีย์ ต้องติดต่อ พูดคุย เพื่อให้ช่องโหว่ต่าง ๆ ผ่านคุณสมบัติ เช่น การมีหนังสือรับรองว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง การนำคำสั่งศาลที่ถูกตัดสินออกมา ว่าเจ้าชายไม่มีส่วนพัวพันเรื่องการสั่งฆ่า คาซอกกี้ รวมไปถึงการเคลียร์ปัญหาหระหว่าง beIn กับ beout Q เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝั่ง
การประกาศรับรองที่เหมือนจะง่ายดาย ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกเหมือนดีลจะล่ม อาจมองได้ว่า รัฐบาลอังกฤษ และพรีเมียร์ลีก ต้องการให้คุณสมบัติต่าง ๆ เป็นที่ชัดเจนประมาณหนึ่ง มิใช่รับรองแบบขาดความรอบครอบ เพราะการที่กลุ่มทุนซาอุฯ จะนำเงินจำนวนมหาศาลมาสร้างทีม มันย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศอังกฤษ และฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
Public Investment Fund (PIF) คือใคร ?

เป็นกองทุนแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย มี เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นประธาน โดยมีทรัพย์สินมูลค่า 320,000 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นเจ้าของทีมที่รวยที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับเจ้าของทีมเปแอสเช ที่มีทรัพย์สิน 220,000 ล้านปอนด์ และ ชีค มันซูร์ ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีทรัพย์สิน 2,300 ล้านปอนด์ เท่านั้น
PIF ไม่ได้ลงทุนกับทีมฟุตบอลเป็นหลัก เพราะนั้นเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยมาก ๆ หากแต่กองทุนนี้ ได้ทำธุรกิจหลายอย่าง เช่น ธุรกิจเครื่องบิน ธนาคาร ไอที และอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางแห่งการลงทุน
บทสรุป ทำไมต้องซื้อ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
กองทุน PIF มีเงินจำนวนมหาศาล หรือกล่าวได้ว่า “มีเงิน แต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร” แต่ก็ไม่อยากนำเงินไปใช้แบบไร้ประโยชน์ ซึ่งการนำเงินไปซื้อทีมฟุตบอลอย่าง นิวคาสเซิ่ล มันสามารถปั้นทีมขึ้นมาใหม่ได้ รวมถึงการใช้สโมสรแห่งนี้ เป็นพื้นที่ของการพัฒนาวงการฟุตบอลซาอุดีอาระเบีย ได้
การซื้อทีม กิจการ หรือถือครองกรรมสิทธิ์ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีความเสี่ยงต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา ไปจนถึงด้อยพัฒนา ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการโดนยึดกรรมสิทธิ์คืน