
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการฟุตบอลต่างวิจารณ์กันอย่างหนัก ถึงกรณีการนำใบน้ำเงิน หรือกฎซินบิน มาใช้ในเกมฟุตบอล ซึ่งไอเดียดังกล่าวมาจากคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ IFAB ที่ได้เริ่มทดลองใช้กับฟุตบอลระดับเยาวชน และฟุตบอลลีกล่างในยุโรปแล้ว โดยใบน้ำเงินจะถูกใช้เพื่อให้นักเตะออกจากการแข่งขัน 10 นาที แล้วกลับมาเล่นใหม่ แต่คำถามสำคัญจากบุคลากรในวงการฟุตบอล คือมีแล้วได้ประโยชน์อะไร และเกมฟุตบอลมีปัญหาอะไร ถึงต้องมีใบน้ำเงินเข้ามา ?
หน่วยงานที่คิดค้นกติกาดังกล่าว จนทัวร์ทุกสัญชาติต้องแห่มาลงแบบหนักหน่วง คือ คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ IFAB ซึ่งมีหน้าที่คิดค้น ปรับปรุง กติกาการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งก่อตั้งในปี 1886 หรือเมื่อ 138 ปีที่แล้ว ในประเทศอังกฤษ แต่ในปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยก่อนหน้านี้ก็ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มี VAR หรือ วิดีโอช่วยตัดสิน ก่อนที่จะถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในศึกฟุตบอลโลก 2018 ขณะที่ใบเหลือง – แดง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของวงการฟุตบอล ก็เป็น IFAB ที่เป็นผู้คิดค้นและใช้งานครั้งแรกในปี 1970 เพื่อให้มีการคาดโทษผู้เล่นที่ทำผิดกติกา

จากผลงานที่ได้ไล่เรียงมา มันจึงทำให้เห็นว่า IFAB ได้คิดค้นกติกาใหม่ ๆ จนมีผลให้การแข่งขันฟุตบอลมีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการคิดค้น VAR ที่เหมือนเป็นการเปลี่ยนโฉมวงการฟุตบอลครั้งใหญ่ เพราะมันช่วยขจัดความผิดพลาดต่าง ๆ ของผู้ตัดสิน ให้มีความยุติธรรมเกือบจะ 100% ส่วนกรณีของใบน้ำเงิน เชื่อว่า IFAB ได้ไอเดียจากกีฬาอื่น ๆ เช่น ฟุตซอล แฮนด์บอล รวมไปถึง รักบี้ ที่ต้องการคาดโทษผู้เล่นให้หนักกว่าใบเหลือง คือคาดโทษ 1 ครั้ง พร้อมกับออกจากเกมการแข่งขัน 10 นาที นอกจากนี้หากโดนใบเหลือง และใบน้ำเงิน หรือโดนใบน้ำเงิน 2 ครั้ง ก็จะนับเป็นใบแดงและถูกไล่ออกจากสนาม ส่วนการแจกใบน้ำเงิน จะทำก็ต่อเมื่อผู้เล่นตัดฟาวล์เกมรุกของคู่แข่ง แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม หรือกับผู้ตัดสิน
การนำใบน้ำเงินมาใช้ในเกมฟุตบอล จะมีข้อดีตรงที่ฝ่ายตรงข้ามมีเวลา 10 นาที ที่จะได้เปรียบเรื่องตัวผู้เล่น ลดความรุนแรงระหว่างผู้เล่น รวมถึงการแสดงกริยาที่ไม่เห็นด้วยต่อผู้ตัดสิน ซึ่งที่ผ่านมาจะถูกคาดโทษด้วยใบเหลือง ยกเว้นกรณีรุนแรงที่จะให้ใบแดงโดยตรง แต่ปัจจัยที่ทำให้ใบน้ำเงินถูกโจมตีในแง่ลบ คือ กติกาที่มีอยู่มันครอบคลุมดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการมี VAR ที่ช่วยขจัดจังหวะน่ากังขาให้หมดไป การทดเวลาตามจริง ที่ทำให้การถ่วงเวลาไม่เกิดประโยชน์อะไร ส่วนการมีใบน้ำเงินมันไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาที่มีอยู่เกมฟุตบอล หากแต่จะนำเข้ามาเพื่อสร้างกติกาใหม่ในกรอบการแข่งขันที่มีอยู่เดิม ซึ่งมันจะส่งผลต่อการทำงานของผู้ตัดสินหลักในสนาม ที่แต่เดิมแค่ตัดสินให้มีมาตรฐานก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว และนี่ต้องมีหน้าที่เพิ่ม ต้องวินิจฉัยว่าการคาดโทษต้องคาดโทษใบสีอะไร ต้องดูเรื่องการเข้าออกของผู้เล่นที่โดนไล่ไปนั่งข้างสนาม รวมถึงทีมสตาฟโค้ชที่จะต้องเปลี่ยนแท็กติก เมื่อผู้เล่นถูกไล่ออกมานั่งพัก
แม้จะมีข้อทกเถียงว่ากีฬาอื่นก็ได้ถูกใช้มานาน เช่น รักบี้ ที่มีขนาดสนามใกล้เคียงกัน หรือฟุตซอล ที่มีรูปแบบคล้าย ๆ กัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าฟุตบอล เป็นกีฬาที่ต้องเล่นต่อเนื่อง และผู้ตัดสินต้องวิ่งตามลูกฟุตบอลตลอดเวลา ฉะนั้นมันอาจไม่เหมาะกับกีฬาชนิดนี้ อีกทั้งกีฬาฟุตบอลก็ไม่ได้มีปัญหาใด จนต้องมีใบน้ำเงินเกิดขึ้น ทำให้การที่ IFAB ต้องชะลอโครงการนี้ออกไป จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย กระนั้นหากต้องการนำใบน้ำเงินมาใช้ในเกมการแข่งขันจริง ๆ IFAB ก็ต้องกลับไปปรับเปลี่ยนกติกาให้ชัดเจน หรือพิสูจน์ให้เห็นว่ากติกาเดิมมีปัญหาอย่างไร ถึงต้องนำใบน้ำเงินมาใช้ ซึ่งหากพิสูจน์ได้ เสียงวิจารณ์ก็จะค่อย ๆ หายไปเอง ดังเช่นกรณีของ VAR ที่เคยถูกมองว่าจะทำให้เกมฟุตบอลขาดมนต์เสน่ห์ที่น่าจดจำ แต่สุดท้ายก็เป็นที่ยอมรับ เพราะมันได้มอบความยุติธรรม แก่ฝ่ายที่ควรจะได้รับ